Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้  เป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย   และเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ  ที่ส่อเค้าลางการเปลี่ยนแปลงของหลายสิ่งหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นมิติเชิงโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ  สังคม  ศาสนา  ศิลปะ วัฒนธรรม  ตลอดจนเรื่องของ “อำนาจและผลประโยชน์ทับซ้อน” (ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกร้อยแปด) กล่าวคือว่า มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่น่าศึกษาค้นคว้า   และน่าที่จะนำไปวิเคราะห์พัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ หรือเป็นกรณีศึกษาในแง่มุมของประวัติศาสตร์ความคิด  ถึงอย่างไรก็ตาม ในบางครั้งบางที  เมื่อลองมองภาพรวมของสังคมทุกวันนี้  ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ดูน่าวิตกกังวนใจมิใช่น้อย  โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยที่มีความเปราะบาง และอ่อนปวกเปียก  ดังที่เห็นเป็นอยู่

อนาคตของประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ตามที่ผู้เขียนได้เกริ่นมาในข้างต้น   จึงตกอยู่ใน “วิกฤติ” และเป็นภาวะวิกฤติที่ยากต่อการจินตนาการไปถึงอนาคตอันสดใส   ชุดของการอ้างเหตุผล หรือการใช้ตรรกะในแบบเดิม อย่างที่เคยศึกษาเล่าเรียนกันมา   จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างราบรื่นอีกต่อไป

และที่มากไปกว่านั้น  ผู้คนในสังคมเอง ก็ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างสบายใจเท่าที่ควร   โดยเฉพาะรูปแบบทางสังคมในปัจจุบัน  ที่อุดมไปด้วยวิธีคิดแบบ “ศรีธนญชัย”  ในทำนองฉลาดแกมโกงหรือแม้แต่ฐานคิดโบราณ  ดังสำนวนที่ว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพียงหวังเข้ายึดกุมทุกสิ่งอย่าง ด้วยอำนาจในทางพละกำลัง  

แต่จะว่าไปแล้ว  ผู้ที่มีพละกำลังและมีอำนาจในการออกแรงเชือดไก่  กลับเป็นพวกที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติดั้งเดิมของสรรพสิ่ง  ไม่เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลง ขัดแย้ง และวิวัฒน์ตัวมันเองตลอด ภายใต้เงื่อนไขของเวลา  

เมื่อสถานการณ์ทางสังคมเป็นเช่นนี้  หน้าที่ของ “ศิลปิน” ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า  ในฐานะที่เป็นนักสร้างสรรค์  นักประกอบสร้างสิ่งที่เรียกว่าผลงานศิลปะ  ควรตื่นจากการหลับใหล ตื่นจากการลุ่มหลงในชื่อเสียง เกียรติยศและรางวัล  แล้วหันกลับมาครุ่นคิดพิจารณากันให้หนักขึ้น กล่าวคือ จะต้องคิดอย่างรอบคอบ และมองอย่างรอบด้านไปตามบริบทที่เป็นอยู่   อ่านกลเกมต่างๆตามสภาวการณ์ทางสังคมที่กำลังเป็นไป  ภายใต้ความสัมพันธ์ของ “บริบทสังคมโลก”  และต้องไม่ลืมหันกลับมาทบทวนเพื่อตั้งคำถาม?  สำรวจตรวจสอบต่อปัญหาโครงสร้างทางความคิด  ในมิติเชิงปรัชญาที่เป็นนามธรรม  เช่น  ความจริง  ความดี และความงาม  ว่าทั้งหมดทั้งมวล  มันสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ และให้เกิดคุณค่าใดแก่มวลมนุษยชาติได้บ้าง   

เพราะอย่างน้อยที่สุดแล้ว  ศิลปินเองก็มีอำนาจมากพอที่จะใช้ผลงานศิลปะของตน  เป็นกระบอกเสียงสาธารณะ  เป็นภาพตัวแทนอันแสดงถึงวิธีคิด และอุดมการณ์ของตนเองอย่างชาญฉลาด  อาจแสดงออกด้วยวิธีการอันนิ่มนวลชวนหลงใหล  อาจวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น  อย่างตรงไปตรงมา  การล้อเล่น การเสียดสี  การกลับคุณค่าความหมายของวัตถุ  หรืออาจหาวิธีการที่แยบยลกว่านั้น  ก็คงสุดแล้วแต่กลเม็ดเด็ดของตัวศิลปินที่จะคิดได้  เพราะเมื่อความคิดและประสบการณ์ที่ได้สั่งสมบ่มเพาะ เริ่มตกตะกอนนอนก้น  มันอาจช่วยส่งผลสะท้อน เป็นความคิดรวบยอดอันเฉียบคมได้ในเบื้องหน้า

ทั้งนี้  สิ่งหนึ่งที่ศิลปินลืมเสียมิได้ก็คือ  จะต้องไม่ละทิ้ง “เจตจำนงของตนเอง” ซึ่งเป็นเจตจำนงในระดับปัจเจกบุคคล  ที่ทั้งตัว “ศิลปิน”(ในฐานะนักสร้างสรรค์) และ “ศิลปะ” (ในฐานะที่เป็นวัตถุ/สื่อ) จะต้องแสดงออกร่วมกันอย่างเสรี และในที่นี้สิ่งที่เราทุกคนจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนก็คือ “ศิลปะกับเสรีภาพ”  ไม่ใช่ สิ่งที่ต้องถูกจับแยกขาดออกจากกัน แต่ทว่าเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กัน โดยผสมผสานกันไปอย่างกลมกลืน 

สุดท้ายนี้ มีข้อความสั้นๆตอนหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้คัดลอกบันทึกเอาไว้ในสมุดโน้ตเล่มเล็ก  ซึ่งเป็นคมความคิดที่ดีมีสาระ และมีความน่าสนใจให้เราได้นำไปขยายความต่อ  เป็นผลงานของอาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  เขียนเอาไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า “ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้” โดยสำนักพิมพ์สามัญชน  และจากเนื้อความบางตอนในหนังสือ ที่กล่าวว่า “ชีวิตจำเป็นต้องมีจินตนาการ เพื่อนำรสชาติของมัน  มาหลอมรวมเป็นความหมาย  และจินตนาการที่แท้จริง  ย่อมมิได้มาด้วยการปลอมแปลงเหตุผล  หรือข้ออ้างของผู้อื่นให้เป็นปรารถนาของตนเอง”  

ฉะนั้นแล้วในแง่หนึ่ง  ผู้เขียนจึงมีทรรศนะว่าศิลปะที่ดีได้นั้น ก็ควรที่จะเป็นศิลปะที่ “ฟรีจินตนาการ” และจะเป็นการดีขึ้นมาอีกระดับ คือจะต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของตนเอง พยายามเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำ และเป็นอิสระจาก “ความอยุติธรรม” ในสังคมทั้งปวง 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน เจตนา แสวงนาม กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์  สาขาปรัชญา  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่       

                                                                                               

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net